เอกชน ขับเคลื่อน เกษตรประชารัฐ ตั้งสหกรณ์ต้นแบบ "ปั้น" Smart Farmer
เว็บมาสเตอร์ |
เอกชน ขับเคลื่อน เกษตรประชารัฐ ตั้งสหกรณ์ต้นแบบ "ปั้น" Smart Farmerในวันที่ 18 เมษายนที่จะถึงนี้ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะจัดประชุมกรรมการเป็นครั้งแรก โดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ เตรียมจะเสนอรายงานการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ในที่ประชุมครั้งนี้ เบื้องต้นคณะทำงานได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนรายใหญ่เป็นอย่างดีในการพัฒนาสินค้าเกษตร การส่งเสริมเกษตรกร ตามยุทธศาสตร์หลักของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐภายใต้หลักการ "ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน" ตั้งคณะทำงานย่อยดู 4 กลุ่มหลัก นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานคณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ได้กล่าวถึงแผนการปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยกลไกประชารัฐว่า หลักใหญ่จะยึดเรื่องของความต้องการจากตลาดเป็นตัวตั้งต้น เพื่อที่จะได้กำหนดแผนการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรไปในทิศทางที่ตลาดมีความต้องการ โดยเมื่อรู้ถึงความต้องการของตลาดแล้ว คณะทำงานก็จะเริ่มเข้าไปดูตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยการแยกเกษตรกรออกเป็นรายเล็ก-รายกลาง-รายใหญ่ เพื่อที่การส่งเสริมเกษตรกรจะได้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่กลางน้ำจะอยู่ในช่วงของการแปรรูป ซึ่งจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการลดต้นทุน การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มีมาตรฐานสากลตามความต้องการของตลาด ส่วนปลายน้ำจะเป็นการสร้างช่องทางการตลาด การสร้าง Brand การขยายสินค้าเกษตรเข้าสู่อุตสาหกรรมในอนาคต รวมทั้งการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมโดยความร่วมมือของเอกชนและท้องถิ่น คณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ได้จัดตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมาเพิ่มเติมโดยแบ่งตามอาชีพหลักในกลุ่มสินค้าเกษตร4 ประเภท ได้แก่ กลุ่มพืช ประกอบไปด้วย ข้าว-มันสำปะหลัง-อ้อย-ยางพารา กลุ่มสัตว์บกขนาดเล็กกับกลุ่มสัตว์บกขนาดใหญ่ เช่น ไก่-สุกร-โคเนื้อ-โคนม กลุ่มสัตว์น้ำ/ประมง เช่น กุ้ง-ปลากะพง-ปลานิล และกลุ่มอาชีพเสริมจะเป็นสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้เร็ว เช่น ผัก/ผลไม้ โดยคณะทำงานได้วางเป้าหมายและกรอบแผนงานระยะสั้นและระยะยาว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และ SMEs เกษตร รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร พัฒนาสหกรณ์ต้นแบบ สำหรับแผนงานระยะสั้นในช่วง6เดือนแรกคณะทำงานจะเข้าไปพัฒนา "สหกรณ์การเกษตรต้นแบบ" ซึ่งเรื่องนี้คณะทำงานเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ ล่าสุดได้มีการหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเบื้องต้น อนาคตจะมีการขยายสหกรณ์การเกษตรต้นแบบไปทั่วทุกภาคของประเทศ "ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสหกรณ์ยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดี ดังนั้น อาจจะต้องนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูแล วางระบบการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อพัฒนาให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรเพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียน โดยในระยะ 1 ปีต่อจากนี้จะต้องทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเข้ามาใช้" นายอิสระกล่าว ส่วนภาคเอกชนที่เข้ามาพัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ขณะนี้ประกอบไปด้วย กลุ่มข้าว จะมีหอการค้าไทย (อ.จุน พะเยา), บริษัทสยามคูโบต้าฯ (อ.แม่สาย เชียงราย-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-แพร่-อ.ห้วยทับทัน ศรีสะเกษ), บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด (อ.เดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี) กลุ่มอ้อย ได้แก่ กลุ่มไทยเบฟ (สุโขทัย), กลุ่มมิตรผล (อำนาจเจริญ) กลุ่มมัน บริษัทราชสีมากรีน(อ.ด่านขุนทด นครราชสีมา) กลุ่มไก่/สุกร พัฒนาเกษตรกรปลูกข้าวโพดแปลงใหญ่และอาหารสัตว์ ทางกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) กับกลุ่มเบทาโกร จะร่วมกันพัฒนาที่ อ.ชนแดน เพชรบูรณ์-บ้านดอนแท่น น่าน-อ.นครไทย พิษณุโลก-อ.ปากช่อง นครราชสีมา กลุ่มโคเนื้อ โคนม ดำเนินการพัฒนาโดย บริษัทแดรี่โฮม กลุ่มกุ้งขาว/กุ้งก้ามกราม/ปลากะพง กลุ่มไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จะพัฒนาในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี-ตรัง-ตราด-นครศรีธรรมราช กลุ่มปลานิล ดำเนินการโดยหอการค้าไทยในจังหวัดเชียงราย-ชลบุรี กลุ่มเกษตรสร้างรายได้เร็ว จะดำเนินการโดยหอการค้าไทยในกลุ่มของผักผลไม้ (นครปฐม-เพชรบุรี-ราชบุรี-พังงา-นครศรีรรมราช-สกลนคร-พิษณุโลก-ตาก-กำแพงเพชร) กลุ่มเห็ด (ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส) กลุ่มสมุนไพร (สุราษฎร์ธานี) กลุ่มทุเรียน (จันทบุรี) และกลุ่มหม่อน (น่าน) รวม 35 โครงการ ใน 28 จังหวัด เริ่มดำเนินการไปตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา "การดำเนินการของภาคเอกชนที่ผ่านมา เราไม่ได้คิดว่างบประมาณที่ใช้เท่าไร แต่เอกชนเห็นว่าการอาสาช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกรเป็นสิ่งที่สำคัญ และหากสามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้ ขายสินค้าได้ เงินทุนหมุนเวียนก็จะเกิดขึ้นกับภาคการเกษตร และเมื่อโครงการเดินหน้าได้แล้วงบประมาณที่จะต้องขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐก็จะพิจารณาและขอความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นลำดับต่อไป" ตั้งศูนย์ปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ ด้านนายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจกุ้งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวถึงโครงการเกษตรประชารัฐที่บริษัทเข้าร่วมในส่วนของกุ้งก้ามกราม-ปลากะพง-ปลานิล-กุ้งขาวแวนนาไม-กุ้งกุลาดำว่าบริษัทจะเข้าไปพัฒนาฟาร์มต้นแบบเกษตรสมัยใหม่โดยมีจุดเริ่มต้นจากการวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำทั้ง5 ประเภทให้ดีที่สุด ดังนั้น จะต้องมีการตั้ง ศูนย์ปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำแห่งชาติ ขึ้นมาโดยภาครัฐอยากให้ภาคเอกชนเป็นแกนนำในการจัดตั้ง "TU เห็นว่าควรตั้งเป็นสถาบัน มีภาคเอกชนและภาครัฐร่วมกันตั้งขึ้น ทุนประเดิมเริ่มต้น 500 ล้านบาท ลงขันฝ่ายละ 50% โดยเอกชนลงขันตามสัดส่วนการส่งออก ขณะที่ภาครัฐควรมีกรมประมง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าร่วม สถาบันแห่งนี้จะมีการพัฒนาสายพันธุ์สัตว์น้ำ หากเกิดโรคระบาดขึ้นมาจะได้ส่งสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ดังกล่าวไปช่วยเหลือเกษตรกรได้ ทั้งหมดนี้จะไม่มีการปิดกั้นการเข้าถึงสายพันธุ์ที่ดี เอกชน-เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ รัฐควรตั้งงบฯอุดหนุนการทำงานอีกปีละประมาณ 100 ล้านบาท เนื่องจากการวิจัยและพัฒนาพันธุ์จะไม่มีรายได้เข้ามาแต่อย่างใด" นายฤทธิรงค์กล่าว ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ทวิตเตอร์ @prachachat ที่มา Link: คลิ๊กที่นี่ |